อาการเจ็บแน่นหน้าอก

 
   
 

อาการเจ็บแน่นหน้าอก
         อาการเจ็บแน่นหน้าอกที่แสดงว่ามี กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (angina) เป็นอาการที่แสดงว่า มีเลือดแดงไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอ ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดๆ ก็ตาม


ลักษณะของอาการ
  • เจ็บแน่นหน้าอก แบบหนักๆ เหมือนถูกกดทับ หรือ บีบรัด หรือ รู้สึกอึดอัด หรือแสบร้อน บริเวณหน้าอก อาจร้าวไปที่ไหล่ซ้าย คอ หรือ แขนซ้าย หรือ รู้สึกหายใจไม่สะดวกร่วมด้วย อาการจะเกิดขึ้น และถึงจุดที่เป็นมากที่สุดในเวลาเพียงไม่กี่นาที มักจะถูกกระตุ้นให้เกิดอาการด้วย การออกแรง หรือ การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ เช่น โกรธ เครียด


  • ถ้าได้อมยา หรือ พ่น ยาขยายหลอดเลือด หัวใจใต้ลิ้น แล้วอาการดังกล่าวจะทุเลาลง

สาเหตุที่ทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่พอ
  • หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจตีบ หรือ อุดตันหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อ


  • หัวใจหดเกร็งตัว


  • โรคของลิ้นหัวใจ บางชนิด


  • โรค กล้ามเนื้อหัวใจหนา ผิดปกติ


  • ภาวะโลหิตจางรุนแรง ธัยรอยด์เป็นพิษ ฯลฯ

อาการเหล่านี้มักไม่ใช่อาการเจ็บหน้าอก ที่แสดงว่ามี กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (angina)
  • เจ็บแบบเสียดๆ หรือ คล้ายมีของแหลมทิ่มแทง


  • หายใจเข้าออก ไอ เคลื่อนไหวร่างกาย หรือ ยกแขนแล้วเจ็บมากขึ้น


  • เจ็บเป็นช่วงเวลาสั้นมากๆ เป็นวินาที หรือ เจ็บติดต่อกันนานเป็นชั่วโมง หรือเป็นวัน


  • เจ็บร้าวลงมาถึงบริเวณสะโพกหรือขา

สาเหตุอื่นๆ ของอาการเจ็บหน้าอก
  • เยื่อหุ้มหัวใจ หรือ เยื่อหุ้มปอดอักเสบ


  • หลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องอกฉีกขาด


  • หลอดเลือดดำจากหัวใจไปสู่ปอดอุดตัน


  • ปอดแตก ทำให้มีลมในช่องเยื่อหุ้มปอด


  • แผลในกระเพาะอาหาร กรดไหลย้อน เข้าสู่หลอดอาหาร หรือ ถุงน้ำดี/ตับอ่อนอักเสบ


  • กล้ามเนื้อ หรือ กระดูกอ่อน บริเวณทรวงอกอักเสบ


         การวินิจฉัยสาเหตุของอาการเจ็บแน่นหน้าอก อาศัยการซักประวัติอย่างละเอียด และตรวจร่างกาย เพื่อแยกประเภทของอาการว่า น่าจะมีแหล่งที่มาของอาการเจ็บจากอวัยวะส่วนใด หลังจากนั้นอาจต้องใช้การตรวจเพิ่มเติมอื่นๆ เช่น ตรวจเลือด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เอกซเรย์ทรวงอก ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง หรือ ตรวจคลื่นหัวใจ ขณะเดินสายพาน หรือ ทดลองให้ยา เช่น ยาขยายหลอดเลือดหัวใจ ยาแก้ปวดคลายกล้ามเนื้อ ฯลฯ แล้วดูการตอบสนองต่อยาว่าผู้ป่วยดีขึ้นหรือไม่ หลังให้การรักษา


โรคประจำตัวที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจ
         อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีอาการเจ็บแน่นหน้าอกทุกรายโดยเฉพาะผู้สูงอายุ มักมีโรคประจำตัว ที่เป็นความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเส้นเลือดสูง หรือ ผู้ที่สูบบุหรี่ ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรรับพบแพทย์ โดยเฉพาะในขณะที่มีอาการ เพื่อหาสาเหตุ และให้การวินิจฉัย หากอาการเจ็บหน้าอกดังกล่าวมีสาเหตุจากโรคที่รุนแรง โดยเฉพาะหลอดเลือดหัวใจอุดตัน หรือตีบ แพทย์จะได้เร่งให้การรักษาอย่างถูกต้อง และรวดเร็ว เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต และทุพพลภาพที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะดังกล่าว

 
   
     
 

ขอขอบคุญข้อมูลจาก  www.phyathai.com